ศพก. ภาคใต้ เสริมฐานเรียนรู้การผลิตแหนแดง เพื่อลดต้นทุนการผลิต

ดินเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการทำเกษตร การปลูกพืชต่าง ๆ ให้เจริญงอกงาม ผลผลิตดีมีคุณภาพ คือการเตรียมดินให้พร้อมทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้พืชดูดซับธาตุอาหาร ปุ๋ย ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เนื่องจากปัจจุบันดินในประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ลดลงมาก ทำให้เกษตรกรต้องแบกภาระมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่สูงขึ้น โดยการใส่ปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้กับดิน ประกอบกับปุ๋ยเคมีมีราคาสูงและเป็นสาเหตุที่ทำให้ดินเสื่อมโทรม แน่นแข็ง มีค่า pH ต่ำ ทำให้พืชไม่สามารถดูดธาตุอาหารไปใช้ประโยชน์ได้ ทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือการใช้แหนแดง ซึ่งเป็นปุ๋ยพืชสดที่ให้ธาตุไนโตรเจนมากกว่าพืชตระกูลถั่ว ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น และเกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตได้

แหนแดง ที่จะกล่าวถึงในวันนี้ เป็นแหนแดงที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์มาจากกรมวิชาการเกษตร ซึ่งได้พัฒนาพันธุ์และขยายพันธุ์แหนแดงสายพันธุ์ไมโครฟิลล่า (microphylla) ตั้งแต่ ปี 2520 และได้มีการรักษาพันธุ์ มาเรื่อย ๆ ในการนำไปใช้งานได้เงียบหายไประยะหนึ่ง เมื่อประเทศไทยหันมาส่งเสริมเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ แหนแดงจึงได้นำมาพัฒนาการใช้ประโยชน์เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์อีกครั้งหนึ่ง ในปี 2540 ลักษณะเด่น คือมีขนาดใหญ่ ขยายพันธุ์ได้รวดเร็วให้ผลผลิตสูงกว่าสายพันธุ์พื้นเมืองถึง 10 เท่า เลี้ยงง่าย เจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณได้อย่างรวดเร็วเป็น 2 เท่าจากเดิมภายในเวลา 3-5 วัน ผลจากการนำไปวิเคราะห์ พบว่า มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ สูงถึง 4.6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าพืชตระกูลถั่วที่มีอยู่ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อหว่านแหนแดงไปในนา 1 ไร่ จะมีผลผลิตแหนแดง 3,000 กิโลกรัม เทียบได้กับปุ๋ยยูเรีย 7-10 กิโลกรัม ซึ่งเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของข้าว ประโยชน์ของแหนแดง คือ 1) สามารถทดแทนหรือลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนลงได้ 2) เพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดินทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ปรับปรุงโครงสร้างดินดีขึ้นในระยะยาว 3) ใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์สำหรับพืชผักและไม้ผล 4) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมี ลดการดูดตรึงฟอสเฟตของดิน 5) ใช้เป็นแหล่งโปรตีนสำหรับเลี้ยงสัตว์ เช่น ปลา เป็ด เป็นต้น 6) มีต้นทุนการผลิตต่ำ และ 7) ลดปริมาณวัชพืชในนาข้าว

นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลว่าจากการประชุมเชื่อมโยงการดำเนินงานของคณะกรรมการเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และคณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ ระดับเขตภาคใต้ ครั้งที่ 1 ปี 2564 ได้นำเรื่องเทคโนโลยีการผลิตแหนแดงของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดยะลา เสนอให้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 14 จังหวัดภาคใต้ เพิ่มฐานเรียนรู้การผลิตแหนแดงในทุกศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ( ศพก.หลัก) เพื่อขยายผลการนำองค์ความรู้ไปสู่แปลงใหญ่ ทั้งนี้ 14 จังหวัดภาคใต้ มีศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) หลัก จำนวน 151 ศูนย์ และมีศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.เครือข่าย) จำนวน 2,176 ศูนย์ ซึ่ง ศพก. เป็นศูนย์กลางการบริการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลข่าวสารและเป็นแหล่งเรียนรู้การผลิตสินค้าเกษตรที่ถูกต้องและเหมาะสมของชุมชน

ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ ๕ จังหวัดสงขลา ขอประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจในการผลิตแหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตพืช ทั้งข้าว พืชผัก ไม้ผลหรือจะนำไปเป็นพืชอาหารสัตว์ สามารถเข้าไปศึกษาเรียนรู้ได้ที่ ศพก. ใกล้บ้านท่าน หรือขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรของกรมวิชาการเกษตร

Cr: ประชาสัมพันธ์ สสก.5 29 มกราคม 2564