เกษตรรุกขยายผลงานวิจัย และนวัตกรรมสู่เกษตรกร เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

กรมส่งเสริมการเกษตรให้ความสำคัญกับงานตามนโยบายของรัฐบาลและของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยจะเห็นได้ว่าภาคเกษตรมีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ ดังนั้นการพัฒนาภาคการเกษตรให้มีศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขัน จะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญที่จะช่วยให้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่าง ๆ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะการยกระดับการผลิต ขยายผลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ส่งเสริมการวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ และประยุกต์ใช้นวัตกรรมที่เหมาะสมกับพื้นที่

นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลว่า ตามแนวทางการดำเนินงานของกรมส่งเสริมการเกษตรในปี 2564 มุ่งเน้นในการช่วยเหลือดูแลเกษตรกรและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และการปรับวิธีการทำงานสู่ความปกติใหม่ (New Normal) ซึ่งเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยยึดหลักตลาดนำการผลิต ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่งเสริมการใช้และบริหารจัดการปัจจัยการผลิตเพื่อยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้คุณภาพมาตรฐาน ใช้กลไกและเครือข่ายการทำงานส่งเสริมการเกษตรเชื่อมโยงทุกระดับ นั้น นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดใช้ระบบส่งเสริมการเกษตร (T&V System) ซึ่งประกอบด้วย การถ่ายทอดความรู้ (Training) การเยี่ยมเยียน (Visiting) การสนับสนุน (Supporting) การนิเทศงาน(Supervision) และการจัดการข้อมูล (Data Management) ในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ให้เป็นไปตามเป้าหมาย และเน้นย้ำการนำผลงานวิจัย และนวัตกรรม จากแหล่งวิชาการต่างๆ เช่น ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center หรือ AIC) หน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย และองค์กรการวิจัยต่างๆ เช่น สวก. สกว. สวทช. รวมถึงงานวิจัยของศูนย์ปฏิบัติการสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตรไปขยายผลให้แก่พี่น้องเกษตรกรผ่านโครงการ กิจกรรมต่างๆ ที่ได้จัดสรรงบประมาณลงไป ทั้งในแง่ของการพัฒนา และการแก้ปัญหาการเกษตรของพื้นที่ โดยบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆ

เมื่อเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ได้จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับเขต ซึ่งเป็นเวทีตามระบบส่งเสริมการเกษตร และได้ถ่ายทอดนโยบายดังกล่าวสู่การปฏิบัติให้แก่ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรใน 14 จังหวัดภาคใต้ และศูนย์ปฏิบัติการ เพื่อร่วมวางแผนขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรของภาคใต้ การปฏิบัติงานในลักษณะท้าทาย และประเด็นการขยายผลงานวิจัย และนวัตกรรมไปสู่เกษตรกร โดยได้รับความร่วมมือจากกรมวิชาการเกษตร ในการนำผลงานวิจัยมาเสนอเป็นทางเลือกให้เจ้าหน้าที่นำไปขยายผล กองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ร่วมบรรยายและให้ข้อเสนอแนะวิธีการขยายผลงานวิจัย

ผลสรุปจากการสัมมนา ภาคใต้ได้คัดเลือกประเด็นและหัวข้อในการนำผลงานวิจัยจากแหล่งต่างๆ ไปขยายผล ในปี 2564 รวมทั้งสิ้น 56 เรื่อง ครอบคลุมทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิต ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร การป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูพืช การพัฒนาเกษตรกร สถาบันเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน การบริหารจัดการองค์กรและการสนับสนุนงาน เช่น การใช้ Application ในการวางแผนและติดตามสถานการณ์การผลิต ตลอดจนวิธีการที่เหมาะสมในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เกษตรกร โดยได้ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติงานระดับเขต และแนวทางการดำเนินงาน มีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา เป็นที่ปรึกษาและร่วมดำเนินการกับสำนักงานเกษตรจังหวัดและอำเภอ ทั้งนี้ตลอดกระบวนการจะมีการอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง พร้อมติดตามความก้าวหน้าทุกระยะ และจะมีการสรุปผลในการสัมมนาปลายปีร่วมกันอีกครั้ง นายสุพิทกล่าวทิ้งท้าย

Cr: ประชาสัมพันธ์ สสก.5 29 มกราคม 2564