ประวัติ

ประวัติ สถานีวิทยุ ม.ก. สงขลา


แผนจัดตั้ง สถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา

ในช่วงที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีหนังสือถึงประธานกรรมการวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย โดยผ่านไปทางสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อขอตั้งสถานีวิทยุ ม.ก.ขอนแก่นนั้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีหนังสืออีกฉบับหนึ่ง เพื่อขอตั้งสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา ตามหนังสือที่ กห.0307(07)/160 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2509 แต่ยังมิได้ลงมือก่อสร้าง รัฐบาลได้มีคำสั่งห้าม มิให้สถานีวิทยุทำการโฆษณาสินค้าเสียก่อน แผนการก่อสร้างสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลาต้องหยุดชะงักไประยะหนึ่ง

ต่อมา อาจารย์พร และ น.อ.จิรพล ได้ปรึกษากันว่า คำสั่งห้ามโฆษณาสินค้าของรัฐบาลคงจะไม่ห้ามตลอดไป เพราะสถานีวิทยุเกือบทุกสถานี ยกเว้น กรมประชาสัมพันธ์ดำเนินการอยู่ได้ด้วยเงินรายได้จากการโฆษณาสินค้า เป็นหลัก ทั้งอาจารย์พร และ น.อ.จิรพล มีความเชื่อว่าอีกไม่นานรัฐบาลคงอนุญาตให้สถานีวิทยุต่าง ๆ ทำการโฆษณาสินค้าได้

ด้วยความคาดหวังดังกล่าว อาจารย์พร และ น.อ.จิรพล จึงได้ไปพบอาจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ที่บ้านพัก เพื่อปรึกษาหารือขอจัดตั้งสถานีวิทยุ ม.ก. สงขลา ตามโครงการที่ได้วางไว้ ในขั้นแรก อาจารย์ ดร.ประเสริฐ ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการเสี่ยงเกินไปที่เอาเงินอีกหลายล้านบาทไปลงทุน ทั้ง ๆ หนี้เก่าก็ยังผ่อนชำระได้ไม่เท่าใด ไม่ควรสร้างหนี้สินเพิ่มขึ้นอีก ถึงจะไม่ใช่เงินของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ตาม แต่อาจารย์พร และ น.อ.จิรพล ยืนยันที่จะลองเสี่ยง ในที่สุดอาจารย์ ดร.ประเสริฐ ก็ยอมให้สร้างสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา

สถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา เริ่มก่อสร้าง

เมื่อได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์ ดร.ประเสริฐ อาจารย์พร และ น.อ.จิรพล ได้เดินทางไปจังหวัดสงขลา เพื่อหาซื้อที่ดิน เดิมจะหาซื้อที่ดินในเมือง แต่ราคาแพงและหาที่แปลงใหญ่ไม่ได้ ในที่สุดได้ไปซื้อที่ดินที่ตำบลน้ำกระจาย อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ซึ่งอยู่ห่างจากตัวจังหวัด 12 กิโลเมตร เนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 39 ตารางวา และต่อมาได้ซื้อเพิ่มเติม อีก 1 งาน 72 ตารางวา

การก่อสร้างได้ดำเนินไปอย่างรีบเร่งและสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา ได้สร้างแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2511

รัฐบาลให้โฆษณาได้

หลังจากที่รัฐบาลได้สั่งห้ามไม่ให้สถานีวิทยุทำการโฆษณาสินค้าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2509 จนกระทั่ง 25 สิงหาคม 2511 รัฐบาลจึงได้แจ้งให้สถานีวิทยุทุกสถานีทำการโฆษณาได้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยวิทยุกระจายเสียง พ.ศ.2511 ซึ่งบ่งไว้ว่า ให้สถานีวิทยุของส่วนราชการซึ่งดำเนินการอยู่ (หมายถึงทำการออกอากาศอยู่) ทำหนังสือขออนุญาตจัดตั้งและดำเนินการเสมือนหนึ่งขอตั้งสถานีวิทยุใหม่ ยื่นต่อกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียง (กบว.) ภายใน 60 วันนับจากวันที่ 25 สิงหาคม 2511 และเมื่อได้รับอนุมัติจาก กบว.แล้ว จึงจะทำการโฆษณาได้

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ทำเรื่องขออนุมัติจัดตั้งสถานีวิทยุ ม.ก. ไปใหม่พร้อมกันทั้ง 4 สถานี ตามหนังสือ ที่ สร.2101/4223 ลงวันที่ 27 กันยายน 2511 แต่เอกสารเกี่ยวกับลักษณะพึงประสงค์ทางเทคนิคที่ กบว.กำหนดให้ส่งไปพร้อมกับหนังสือขอจัดตั้งสถานีวิทยุนั้น มหาวิทยาลัยได้ส่งไปเพียง 3 สถานี คือ สถานีวิทยุ ม.ก.บางเขน สถานีวิทยุ ม.ก.เชียงใหม่ และสถานีวิทยุ ม.ก.ขอนแก่น ยกเว้นของสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไม่ได้ส่งไป เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา แม้จะสร้างเสร็จแล้ว แต่การติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ยังไม่เรียบร้อย

กบว. ไม่อนุมัติให้ ม.ก.สงขลาเปิด

ต่อมาเมื่อเอกสารเรียบร้อย อาจารย์พรได้ทำเอกสารเกี่ยวกับลักษณะพึงประสงค์ทางเทคนิคของสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา  ส่งให้กับคณะกรรมการเทคนิคเพื่อพิจารณา ผลปรากฏว่า เมื่อ กบว. และคณะอนุกรรมการฝ่ายเทคนิคได้พิจารณาแล้ว ได้มีหนังสือที่ 18/2514 ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2514 ถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แจ้งให้ทราบว่า ไม่อาจพิจารณาอนุมัติให้ได้ เนื่องจากสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา ขาดคุณสมบัติสำคัญเกี่ยวกับความถี่วิทยุที่จำเป็นต้องมี ในขณะยื่นขออนุมัติจัดตั้ง ตามที่คณะอนุกรรมการฝ่ายเทคนิคและ กบว. ได้กำหนดเป็นหลักเกณฑ์ไว้ในการพิจารณา

แต่ในตอนท้ายของหนังสือฉบับดังกล่าว ได้พูดเชิงเสนอแนะว่า “อย่างไรก็ดี กบว. เห็นว่าสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ดำเนินงานมาบ้างแล้ว ในการเตรียมการเพื่อจัดตั้งสถานีวิทยุแห่งนี้ หากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังมีความจำเป็นที่ขอจัดตั้งสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา เพื่อประโยชน์ตามความมุ่งหมายของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต่อไป ก็ขอให้ดำเนินการไปทางคณะรัฐมนตรี

ม.ก.สงขลา ได้รับอนุมัติ

เมื่อ กบว. ไม่อนุมัติให้จัดตั้งสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา อาจารย์พรได้ร่างหนังสือขึ้นมาอีกฉบับหนึ่งให้อาจารย์ ดร.ประเสริฐ ลงนามแทนอธิการบดี ถึงประธาน กบว. (หนังสือที่ สร.2101/2417 ลงวันที่ 30 เมษายน 2514) อ้างถึงความจำเป็นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะต้องตั้งสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลาส่งไปอีกครั้งหนึ่ง

เรื่องความถี่วิทยุที่ กบว. บอกว่าไม่ได้แจ้งไปตอนแรก ๆ ก็ได้แจ้งไปใหม่ว่าสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลาจะใช้ความถี่ 662 กิโลเฮิตร์ หรือความถี่ 1310 กิโลเฮิตร์

หลังจากที่ได้ยื่นไปแล้วเกือบ 1 ปี ได้มีหนังสือจาก กบว. ที่ 003/2515 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2515

เรื่องผลการพิจารณาด้านเทคนิคเกี่ยวกับความถี่ของสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา แจ้งว่าความถี่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตรืแจ้งไปนั้น สำหรับความถี่ 662 กิโลเฮิตร์ ใช้ไม่ได้ เพราะไปรบกวนสถานีวิทยุกระจายเสียงของมาเลเซีย ส่วนความถี่ 1310 กิโลเฮิตซ์ใช้ไม่ได้เช่นกันเพราะจะไปรบกวนสถานีวิทยุทหารอากาศสงขลา

ขณะนี้คณะอนุกรรมการฝ่ายเทคนิคได้ร่วมมือกับสำนักงานบริหารและควบคุมความถี่วิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้พิจารณาจัดสรรความถี่ในย่าน MF ใหม่ และจะมีความถี่ใหม่ขนาดคลื่น 1270 กิโลเฮิตซ์ ให้สถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา ได้

ความถี่ที่ได้มาใหม่โดยมิคาดฝันมานี้ อาจารย์พร และ น.อ.จิรพล ทราบดีว่าเป็นความกรุณาของ อาจารย์เสงี่ยม เผ่าทองสุข ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายเทคนิคขณะนั้นที่ได้จัดสรรให้กับสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา

สรุปได้ว่า สาถนีวิทยุ ม.ก.สงขลา ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งได้ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2516 และได้ออกอากาศเมื่อเดือนเมษายน 2515 ด้วยความถี่ 1270 กิโลเฮิตซ์ กำลังส่ง 10 กิโลวัตต์ ถ้าจะนับตั้งแต่เริ่มก่อสร้างจนถึงวันได้รับอนุมัติให้จัดตั้งได้ สถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา ได้ใช้เวลาร่วม 4 ปี นับว่านานที่สุด น.อ.จิรพล พูดว่า สถานีวิทยุ ม.ก.สงขลาเป็น ทุกข์ลาภ คือกว่าจะได้รับอนุมัติให้ตั้งได้ ทุกคนมีความทุกข์อย่างสาหัส เพราะเงินทุนที่ลงไปนับล้านบาทจมอยู่นานถึง 4 ปี

ยิงหัวหน้า ม.ก.สงขลา

นับเป็นเรื่องสะเทือนใจชาววิทยุ ม.ก.มากที่สุด เมื่อได้รับทราบข่าวจากสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา แจ้งว่า หัวหน้าสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา (นาวาตรีเกื้อ ทับเทศ) ถูกคนร้ายบุกยิงเสียชีวิต ขณะนั่งปฏิบัติงานอยู่ที่สถานีเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2518 เวลา 11.00 น. คนร้าย 2 คน นั่งมอเตอร์ไซด์เข้าไปที่สถานีคนร้ายคนหนึ่งลงจากรถมอเตอร์เดินเข้าไปยิง น.ต.เกื้อ 6 นัด แล้วขึ้นมอเตอร์ไซด์หนีไป น.ต.เกื้อ เสียชีวิตขณะนำส่งโรงพยาบาล

ขณะที่คนร้ายเดินเข้าไปยิงนั้น นายถวิล สุวรรณมณี เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของสถานีนั่งอยู่ด้วย และเห็นหน้าคนร้ายชัดเจน ต่อมาเมื่อตำรวจจับคนร้ายได้ พรรคพวกของคนร้ายเห็นว่า นายถวิล เป็นพยานคนสำคัญที่จะทำให้คนยิงติดคุกได้ และอาจจะสืบสาวราวเรื่องไปถึงคนจ้างวานก็ได้ จึงได้มีการวางแผนเก็บ นายถวิล อีกคนหนึ่ง แต่โชคดีที่แคล้วคลาดกันหลายครั้ง

อาจารย์พร เห็นว่าถ้านายถวิลถูกเก็บไปอีกคนหนึ่ง ก็จะขาดพยานปากสำคัญ จึงได้ให้นายถวิล ย้ายจากสงขลามาทำงานที่สถานีวิทยุ ม.ก.บางเขน และให้พักอยู่ที่บ้านพักของข้าพเจ้า ซึ่งเป็นบ้านพักของมหาวิทยาลัยจนทุกวันนี้ โดยไม่กล้าย้ายกลับไปสงขลา

ต่อมาอาจารย์พร และ น.อ.จิรพล เห็นว่าถ้าให้คดีดำเนินการที่สงขลา เป็นการไม่ปลอดภัยที่จะให้นายถวิลลงไปให้การเป็นพยานศาลที่นั่น เพราะอาจถูกเก็บได้ จึงได้โอนคดีดังกล่าวมาดำเนินการที่กรุงเทพฯ

คนร้ายรับสารภาพว่าได้ยิงจริงเพราะโกรธแค้นกันเรื่องส่วนตัวมาก่อนทั้ง ๆ ที่คนร้ายกับ น.ต.เกื้อ ไม่รู้จักกันมาก่อนเลย ซึ่งพอจะทราบได้ว่าเป็นการจ้างวานให้มายิง

ศาลได้ตัดสินให้คนยิงติดคุก 40 ปี และลดให้กึ่งหนึ่งในฐานที่รับสารภาพเหลือ 20 ปี และปรากฏว่าคนร้ายติดคุกเพียง 8 ปี ก็พ้นโทษ